project feasibility irr

Project Feasibility การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ

เรื่องการคำนวณ Project Feasibility หรือการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นนึงที่มีคนถามผมมาเยอะพอสมควร ดังนั้นก็เลยขอเอามาเขียนอธิบายกันอีกทีนะครับ

เรื่องของ Project Feasibility จริงๆนั้น มีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ว่าโครงการนั้นๆ จะอยู่รอดหรือไม่ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ในหลายแง่มุมมากๆ เช่น การดำเนินงาน, การตลาด, เทคนิค, การเงิน, กฎหมาย เป็นต้น

แต่แง่มุมที่ผมคิดว่าเพื่อนๆ อยากให้ผมพูดถึง มันคือแง่มุมในเรื่องของการเงิน หรือพูดง่ายๆ คือความคุ้มค่าของการลงทุนของโครงการนั้นๆ นั่นเอง เพราะเป็นแง่มุมที่ใช้ Excel วิเคราะห์ได้ดีที่สุด เนื่องจากมันเป็นการคำนวณตัวเลขนั่นเอง 555

หลักการของการวิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุน

สิ่งที่เราได้รับ (ผลตอบแทน) มากกว่าสิ่งที่เราเสียไป (ต้นทุน) รึเปล่า?

ซึ่งคำว่าสิ่งที่เราได้รับ และสิ่งที่เราต้องเสียไป จริงๆ มันอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรม หรือเป็นนามธรรมก็ได้ แต่เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างยุติธรรม เราจะต้องทำให้ทุกอย่างวัดได้ในหน่วยเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเปรียบเทียบกับการเลือกแฟน ก กับ ข ว่าเราจะเลือกใครดี? (ซึ่งไม่ควรมี 3 คน เดี๋ยวจะเป็น กขค) มันคงน่าเศร้าถ้าเราจะวัดว่าแฟน ก หรือ ข ด้วยผลประโยชน์ทางการเงินอย่างเดียว ดังนั้นเราต้องพิจารณาให้ครบทุกด้าน ซึ่งเรื่องของอารมณ์ความชอบส่วนตัวจะมีผลตรงนี้แหละ แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะมันก็เป็นแค่เรื่องส่วนตัวของเรา เราจะเพิ่มคะแนนพิศวาสให้ใครมากกว่า มันก็เรื่องของเราจริงมะ?

แต่ถ้าเป็นเรื่องการบริหารโครงการต่างๆ (ซึ่งมักเป็นเรื่องส่วนรวม) เราก็ไม่ควรเอาเรื่องของความพิศวาสส่วนตัวเข้ามาพิจารณาจนทำให้การตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งวิธีที่สะดวกที่สุดคือ เราจะใช้การวัดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นด้วยเงินตรานั่นเอง เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนวัดได้ชัดเจน ตรงกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เช่น ถ้าจะสร้างตึก A กับ B ในความเป็นจริงเราคิดว่าตึก A สวยกว่า แต่ตึก B ลงทุนน้อยกว่า เราก็ต้องพยายามตีความทุกอย่างเป็นเงินให้ได้ด้วยเพื่อให้เห็นภาพเป็นตัวเงินชัดเจนขึ้น เช่น

  • ตึก A ที่สวยกว่าจะดึงดูดคนให้เข้ามาใช้เยอะกว่าจนสร้างรายได้มากกว่าได้มั้ย?
  • ตึก B ต้องมีค่าการตลาดเพิ่มเยอะกว่าตึก A มั้ย?
  • การขายต่อ ราคาขายต่อของ A เยอะกว่า B มั้ย?

ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็ยังเป็น Judgement นะ แต่ว่าเป็น Judgment ที่ยังมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นมาหน่อย ซึ่งเราอาจทำเป็นหลาย Scenario ก็ได้ เช่น Scenario ที่คิดว่าตึก A จะดูดคนมาได้มากๆ, Scenario ที่คาดหวังไว้, Scenario ที่ห่วยกว่าที่คาด อะไรแบบนี้ แล้วดูว่าช่วงของผลตอบแทนการลงทุนนั้นๆ เรารับได้มั้ย? เป็นต้น

ความยากก็คือ เราต้องคิด Cashflow ต่างๆ ให้สอดคล้องกับแผนงานจริงๆ ด้วย เช่น ถ้าเราต้องตัดสินใจว่าจะขายอาหารด้วยแผนไหนดีระหว่าง การเปิดร้านจริงจังที่ทำเลดีๆ ที่เน้นขายได้ทั้งหน้าร้านและ Delivery กับการเปิดร้านในทำเลธรรมดาๆ แต่จะเน้นขายแบบ Delivery อย่างเดียว แบบนี้พวกเงินการลงทุน และรายได้ย่อมไม่เท่ากันแน่นอน แปลว่าถ้าเราไม่เข้าใจธุรกิจหรือโครงการที่จะทำเป็นอย่างดี ประเมินให้ตายยังไงก็ไม่แม่นหรอกครับ

นอกจากจะขึ้นกับความรู้ ประสบการณ์ของคนประเมินแล้ว ในยุคปัจจุบันสามารถใช้พวก Big Data/Data Analysis มาช่วยให้เราประมาณการเรื่องต่างๆ ได้แม่นขึ้นด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆ

แต่ทว่าจะมีอีกเรื่องนึงที่คนทั่วไปมักจะลืมคิดไป นั่นคือ เรื่องของค่าเสียโอกาส หรือพูดง่ายๆ คือ เงินในแต่ละช่วงเวลามีค่าไม่เท่ากัน นั่นเอง

เงินในแต่ละช่วงเวลามีค่าไม่เท่ากัน

การที่จะเข้าใจได้ว่าเงินแต่ละช่วงเวลามีค่าไม่เท่ากัน (Time Value of Money) นั้น แค่ตอบคำถามผมง่ายๆ ก็พอว่า “จะเอาเงิน 100 บาทเลยตอนนี้ หรือจะรอไปอีก 5 ปีแล้วได้ 100 บาทเท่าเดิม?” คงไม่มีคนสติดีที่ไหนที่จะต้องรอ 5 ปี จริงมั้ยครับ? เพราะถ้าเอาตอนนี้เลย เราสามารถเอาไปทำประโยชน์ต่างๆ ได้ทันที หรือถ้าจะเอาไปฝากธนาคารไว้ก่อน แล้วรอ 5 ปี แล้วค่อยถอนออกมา ป่านนั้นเงินต้องเยอะกว่า 100 บาทแล้วแน่นอน

ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องคำนวณเงินที่อยู่ต่างเวลากัน เราจะเอามาเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ เราจะต้องแปลงตัวเลขให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันซะก่อน ซึ่งทำได้หลายแบบเช่น

  • เอาเวลาในอนาคตกลับมาในอดีต เรียกว่า Present Value (PV)
  • เอาเวลาในอดีตไปอนาคต เรียกว่า Future Value (FV)

ใครสนใจเรื่องพวกนี้สามารถอ่านบทความที่ผมเคยเขียนเอาไว้ได้ครับ

เทคนิคการวิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุน

ทีนี้มันมีเทคนิคที่เอาไว้วิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งมีอยู่ 3 ตัวที่เป็นที่นิยม คือ

  • Payback Period หรือ ระยะเวลาคืนทุน ซึ่งวิธีนี้ส่วนมากจะไม่ได้คิดเรื่อง Time Value of Money ซึ่งผมมองว่าเป็นวิธีที่ไม่ ok เท่าไหร่
  • NPV (Net Present Value)
    • วิธีนี้จะเป็นการทำให้เงินทุกก้อน ย้อนมาที่จุดปัจจุบันเหมือนกันหมดจะได้เทียบกันได้ (PV ทุก Cashflow) แล้วเอามา Net กัน
    • ถ้าสุดท้ายได้ค่า NPV เป็นบวกแสดงว่ามีกำไร
    • วิธีนี้ลำบากตรงที่ต้องคิดว่าจะ Discount เงินด้วยค่าเสียโอกาส หรือ Rate of Return กี่ % ดี? ซึ่งถ้าแต่ละคนคิด % ไม่เหมือนกัน อาจได้ NPV ต่างกันก็ได้
  • IRR (Internal Rate of Return)
    • วิธีนี้เป็นการคิดว่า %Rate of Return เท่าไหร่ ที่ทำให้ได้ NPV เป็น 0 พอดี
    • ถ้าค่า IRR ยิ่งมาก แสดงว่ายิ่งน่าลงทุน
    • ข้อดีคือเหมาะกับนำไปเปรียบเทียบกับโครงการต่างๆ ได้ หรือจะเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นก็ได้
    • ข้อเสียคือ มีโอกาสที่ IRR จะมีหลายค่าได้ด้วย
    • ส่วนตัวผมชอบวิธีนี้ที่สุดเลยครับ ^^

รายละเอียดการคิด NPV กับ IRR อ่านได้ในนี้

วิธีคำนวณ IRR ใน Excel

ให้สร้าง Range ของ Net Cash Flow ขึ้นมาก่อน โดยที่ช่องแรกคือ End of Period 0 ไล่ไปเรื่อยๆ

หลักการสำคัญคือ

  • เงินเข้าโครงการใส่เป็นค่าบวก
  • เงินออกจากโครงการใส่ติดลบ (ซึ่งแปลว่าเงินลงทุนจะเป็นลบนั่นเอง)
  • ปีไหน ไม่ได้ไม่เสียเงิน ก็ต้องใส่เลข 0 ด้วย ห้ามปล่อยว่างเด็ดขาด!!

ตัวอย่างเช่น

  • โครงการ A ลงทุน 1 ล้านบาท แล้วได้เงินคืนทุกปี ปีละ 300,000 จำนวน 4 ครั้ง
  • โครงการ B ลงทุน 1 ล้านบาท ได้เงินคืนปีเว้นปี ปีละ 330,000 จำนวน 4 ครั้ง

วิธีคิดใน Excel ต้องทำแบบนี้

Project Feasibility การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ 1

ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะตอบได้ว่าโครงการ A น่าสนใจมากกว่า เพราะได้ IRR 7.7% ซึ่งมากกว่า 7.5% ของโครงการ B นั่นเอง

หรือถ้าอยากจะรู้ IRR เมื่อผ่านไปในแต่ละปี ก็เขียนสูตรมันแบบนี้เลยก็ได้ โดย Lock $จุดเริ่มต้นไว้อย่างเดียว เผื่อบางโครงการ IRR ดีมาก แต่จะดีก็ต่อเมื่ออยู่จนจบโครงการเท่านั้น แบบนี้บางทีเราอาจจะรอไม่ไหวก็ได้

=IRR (values, [guess])

ในบางกรณี เราต้องใส่ค่า guess ลงไปในสูตร IRR กรณีที่มันหาค่าแล้วขึ้น #NUM! ด้วย (เช่น ช่อง E7 ถ้าไม่ใส่ guess ลงไป ผลจะ error แต่พอผมใส่ค่าติดลบนิดหน่อยลงไป ค่าก็ ok เลย)

project feasibility

ใครสนใจดูตัวอย่างที่ Practical มากขึ้นก็ลองดู ตัวอย่างการใช้ IRR วิเคราะห์ผลตอบแทนของประกันชีวิต ที่ผมเคยเขียนไว้นานมากแล้วก็ได้ครับ

คำนวณ IRR ใน Power BI

ก่อนอื่นก็เอาข้อมูลเข้า Power BI ซะ โดยใส่บรรทัดละ 1 Period

Project Feasibility การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ 2

แต่ปรากฏว่าใน Power BI มันไม่มี IRR ให้ใช้ มีแต่ XIRR ซึ่งต้องระบุวันที่ไปด้วย (แต่ข้อดีคือ สามารถระบุวันที่วันไหนก็ได้ แต่ละ cashflow ห่างกันยังไงก็ได้ นั่นคือวันไหนไม่มี Cashflow ก็ไม่ต้องใส่ค่าได้ด้วย แต่ถึงใส่เป็น 0 ก็ไม่ได้ผิดอะไร รายละเอียดอ่านได้ในนี้)

ดังนั้นผมก็เลยต้องสร้างคอลัมน์วันที่ขึ้นมาก่อน (จะทำใน Power Query หรือ DAX ก็ได้) ซึ่งผมไม่มีวันแบบเป๊ะๆ เลยใส่เป็นวันสิ้นปีไปเลย ด้วย Dax New Column ดังนี้

Date = 
VAR CurrentYear=YEAR(TODAY())
RETURN DATE(CurrentYear+Data[สิ้นปีที่],12,31)
Project Feasibility การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ 3

จากนั้นก็สร้าง Measure ที่คิด IRR ขึ้นมา แบบนี้ แล้วกำหนด Format เป็น % แล้วเอาไปใส่ Visual ที่ต้องการซะ

IRR = XIRR(Data,Data[NetCashFlow],Data[Date])
Project Feasibility การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ 4

แค่นี้ก็จบแล้ว สบายๆครับ กับการคำนวณ IRR ทั้งใน Excel และ Power BI ^^ ถ้าใครสงสัยตรงไหนยังไงก็ถามได้เลยครับ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Public Training Workshop 2025
อบรม In-House Training

Feedback การใช้งาน AI Chatbot