สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 1

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาแชร์เคล็ดลับในการบันทึกความรู้แบบสุดเทพในยุค AI ที่ใครๆ ก็ทำตามได้ เหมาะกับคนชอบจดโน้ตที่อยากเพิ่มไอเดียเด็ดๆ แบบรวดเร็ว ซึ่งใช้ได้แม้แต่ตอนขับรถคนเดียวทางไกล !

ถ้าอยากรู้ ลองมาติดตามกันครับ ^^ (ถ้าคุณไม่ได้ขับรถ ก็ยังประยุกต์ใช้ได้ครับ ลองอ่านดูนะ)

ทำความรู้จักหนังสือ Building a Second Brain

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 2

ไหนๆ ก็ไหนๆ เรามารู้จักกับ หนังสือ พลังแห่งสมองที่สอง (Building a Second Brain) ของคุณ Tiago Forte กันหน่อย (ฉบับภาษาไทยโดย สนพ. bookscape)

โดยหนังสือเล่มนี้สอนเทคนิคการจัดการความรู้และไอเดียให้เป็นระบบ ด้วยหลักการที่เรียกว่า “CODE” ย่อมาจาก Capture – Organize – Distill – Express เพื่อสร้าง “สมองที่สอง” ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่โด่งดังมากๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เลยครับ

เทคนิคพวกนี้ช่วยให้หลายๆ คนเริ่มเอาความคิดเด็ดๆ ในหัวมาจดบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ แทนที่จะปล่อยให้หายไปเฉยๆ อย่างที่ผ่านมาได้

แนวคิดหลักๆ ก็มีอยู่ว่า ให้เราบันทึกไอเดียด้วยคำพูดของตัวเอง จดแต่ข้อมูลสำคัญๆ เก็บเฉพาะสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน ใช้ app ง่ายๆ จับความคิดเด็ดๆ ในชีวิตประจำวัน จากนั้นก็ทบทวนอยู่เป็นประจำ แล้วลองเอาข้อมูลจากหลายๆ ที่มาปะติดปะต่อกันดู เพื่อให้เห็นภาพใหญ่และความเชื่อมโยงของไอเดียพวกนั้น เท่านี้ก็จะมี “สมองที่สอง” เป็นตัวช่วยเสริมแกร่งให้เราแล้ว

ใครที่อยากฟังสรุป ลองฟังที่คุณ เอ๋ นิ้วกลม เล่าสีุปให้ฟังในคลิปนี้ก็ได้

ปัญหาการบันทึกข้อมูลที่ผมเจอ

แต่ปัญหาเท่าที่ผมได้เจอมาจากประสบการณ์ส่วนตัวก็คือ บางทีเราได้ฟังหรือได้อ่านข้อมูลดีๆ มา แต่ไม่ได้จดเอาไว้ อาจเพราะไม่สะดวกที่จะหยิบกระดาษมาจด หรือไม่สะดวกหยิบคอมพิวเตอร์มาพิมพ์ข้อมูลนั้นเก็บไว้อะไรก็แล้วแต่… ทำให้เสียโอกาสที่จะบันทึกความคิดดีๆ ไปมากมาย

แต่เอ๊ะ! ในยุค AI แบบนี้ เรามาอัพเกรดวิธีสร้าง Second Brain ให้ล้ำไปอีกขั้นดีกว่า ด้วยเทคนิคสุดพิเศษ “Second Brain ฉบับเทพ Excel” โดยใช้ 2 เครื่องมือหลัก ที่เพิ่งจะมา Work เอามากๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่เอง นั่นก็คือ

  1. การแปลงเสียงเป็นข้อความภาษาไทยที่แม่นยำ (อย่างเช่น Dictation ใน iPhone) และ
  2. AI Chatbot ตัวเทพที่ฉลาดเรื่องข้อมูลภาษาไทย เช่น Claude, ChatGPT, Gemini

แนวทางการสร้าง Second Brain ในยุค AI

Capture : ใช้การพูดแล้วแปลงเป็นข้อความ

เริ่มต้นที่ขั้นตอน Capture เราแค่หยิบมือถือขึ้นมาพูดไอเดียใส่ไปเลย ไม่ต้องใช้กระดาษปากกาให้เมื่อยมือ มันจะแปลงเป็นข้อความให้เราอัตโนมัติ จะใช้ภาษาไทยก็ได้ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวไกล ฟังภาษาไทยรู้เรื่องแล้ว!

แถมเดี๋ยวนี้ เราไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้เป็นไฟล์เสียงจริงๆ (เพราะนำกลับมาใช้ยาก) แต่ให้ใช้วิธีแปลงเสียงเป็นข้อความแทน เช่น ผมใช้ Dictation ของ iPhone แล้วบันทึกลงไปใน Note มันก็จะช่วยแปลงเสียงเป็นข้อความให้เองโดยอัตโนมัติ แถมจะพูดภาษาไทยไปเลยก็ได้ เดี๋ยวนี้คอมพ์และมือถือมันฟังภาษาไทยเก่งแล้ว สะดวกมากๆ ไปเลย

ซึ่งการพูดจะบังคับให้เราทำความเข้าใจ Input ที่ได้ ก่อนจะประมวลผลเป็น Output ออกมาเป็นคำพูด และยังช่วยกระตุ้นความคิดใหม่ๆ ให้ออกมาเรื่อยๆ ได้ด้วยนะ!

แถม “การพูด” ยังเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วใช้ได้ โดยเฉพาะกับคนที่พิมพ์ไม่เร็ว และเราสามารถใช้วิธีนี้ตอนขับรถได้ หรือใช้ตอนเรียนคอร์สออนไลน์ก็ได้นะ (เพราะเราสามารถ pause การเรียนแล้วพูดบันทึกไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาได้)

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 3
นี่คือที่ผมพูดบันทึกเอาไว้ จะเห็นว่ามันฟังภาษาไทยได้ดีมากจริงๆ นะ

ตอนจดบันทึกไอเดียต่างๆ ก็มีแนวทางดังนี้

ตอนบันทึก ให้พูดสิ่งสำคัญ ไอเดียเจ๋ง หรือข้อมูลน่าสนใจ ด้วยภาษาของเราเอง พูดไปเรื่อยๆ ได้เลย ไม่ต้องเป็นระเบียบ สวยงาม ก็ได้ (เพราะเดี๋ยวจะใช้คอมพ์+ ai มาช่วยทีหลัง)

ทีนี้ไม่ว่าจะฟังพ็อดแคสต์ ข่าว หรือคุยกับใคร พอเกิดไอเดียปุ๊บ ก็หยิบมือถือขึ้นมาพูดอัดไว้ได้เลย แต่ตอยพูดกับคนด้วยกัน ก็อย่าเพิ่งอัดตอนนั้น ค่อยหาจังหวะเหมาะสมมาพูดบันทึกทีหลังก็ได้ แนะนำว่าอย่าไปพูดตอนมีคนอื่นอยู่ด้วยนะ เดี๋ยวดูบ้า 555

ตรงนี้ยังไม่ต้องใช้ App อะไรพิสดาร แค่บันทึกไปในที่ที่สะดวกที่สุดพอ ในของผมจะใช้ Note ธรรมดาเลย

ดังนั้นวิธีของผมจะ Work มากตอนขับรถคนเดียวไกลๆ ครับ เพราะมันจะมีเวลาที่จะอยู่ในโหมดสมองอัตโนมัติ แล้วมีโอกาสปิ๊งไอเดียดีๆ แล้ว “พูดเพื่อบันทึกไอเดียเจ๋งๆ” ลงไปใน Note ได้เลย

แถมสั่ง “ขึ้นบรรทัดใหม่” หรือ “ย่อหน้าใหม่” ด้วยเสียง ได้เลยนะ ไม่ต้องพิมพ์ หรือถ้าตอนนั้นเราสะดวกพิมพ์ เราใช้ผสมผสานการพูดและการพิมพ์ keyboard ไปด้วยกันเลยก็ได้

Organize : ให้ AI ช่วยสรุป+Tag เพื่อให้จัดระเบียบง่ายขึ้น

เวลาตอนที่ผม Capture ผมจะยังไม่ได้จัดระเบียบ Note อะไรมากมายครับ ซึ่งถ้าใครสามารถ Capture แยกไฟล์ตามหัวข้อประเด็นแต่แรกได้ก็แล้วแต่เลย (แต่ผมทำไม่ได้ 555) ผมจะใช้วิธีบันทึกรวมๆ ไป แต่อาจแยกแค่ระดับวันพอ (คล้ายๆ ไดอารี่)

ผมเอาข้อมูลจาก Note ส่ง Email หาตัวเอง (เพิ่ม ฺBackup ไปในตัว) จากนั้น ผมจะใช้วิธีโยนให้ AI สรุปออกมาเลยครับ ว่าใน Note ของวันนั้นๆ มีประเด็นอะไรบ้างให้สรุปเป็น Bullet point และมี keywords หรือ Tag อะไรบ้าง ให้ List ออกมา แบบนี้

ล่าสุดผมใช้ Claude 3 Opus ในการทำเรื่องนี้ (ณ ตอนนี้ มันคือ AI ที่ฉลาดภาษาไทยสุดๆ)

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 4

จากนั้นเอา Bullet point สรุปแปะไว้ข้างบนเลย เผื่อเรากลับมาดูทีหลัง จะได้ไม่ต้องอ่านยาวๆ ทั้งหมด รวมถึงใช้ Tag ต่างๆ ช่วยในการจัดระเบียบภายหลังได้อีก

แล้วพอได้ของดีมาเยอะๆ แล้ว การแยกแยะ จัดกลุ่ม หมวดหมู่ ให้ข้อมูลพวกนั้นอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ เผื่อวันหลังเราอยากย้อนกลับไปดู จะได้หาเจอง่ายๆ

ทีนี้พอเรามีทั้ง Tag ทั้ง Bullet Points สำคัญ ก็จะทำให้การค้นหาความรู้ง่ายขึ้นเยอะ แล้วถ้าเรามีเวลาจัดระเบียบจริงๆ เราก็ค่อยหาทาง Link เข้า Folder หรือ Project ที่เราทำงานอยู่อีกทีก็ได้นะ

ซึ่งอันนี้แล้วแต่ App ที่แต่ละคนชอบใช้แล้ว ซึ่งปัจจุบันผมยังใช้ Notion กับเรื่องแนวๆ นี้อยู่

Distill

ต่อมาก็ขั้นตอน Distill ซึ่งข้อมูลดิบของเราในตอนแรก อาจยังไม่ค่อยเนียน เพราะเป็นแค่พูดบันทึกไอเดียที่นึกได้อย่างรวดเร็ว จริงมะ?

แต่ไม่ต้องกลัว! เราสามารถให้ AI ช่วยเรียบเรียงประโยคให้เป๊ะขึ้น อ่านสบายตา เข้าใจง่าย แต่ยังคงใจความเดิมอยู่

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 5

ส่วนตัวเราเองก็เป็น “บรรณาธิการ” ที่สามารถมาช่วยคิด ถกเถียง เพิ่มเติมรายละเอียด คอยคัดสรร ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะปรับแก้ยังไง ซึ่งตรงนี้เราสามารถใส่เสน่ห์ความเป็นตัวเองลงไปได้เต็มที่

เช่น ผมมองว่า ควรผสมหลักการของหนังสือ Second Brain ลงไปในบทความด้วย เพื่อให้มีประโยชน์กับเพื่อนๆ มากขึ้นไปอีก

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 6

และถ้า AI เข้าใจอะไรผิดไป เราก็สั่งแก้ไขได้ ซึ่งอันนี้แหละคือหน้าที่สำคัญของเรา

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 7

การทำงานจะเป็นลักษณะที่สลับส่งงานไปมาระหว่างเรากับ AI แก้ไปแก้มาจนกว่าเราจะพอใจ

ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาดีแค่ไหน อยู่ที่ความสามารถของเราในการ “ทำงานร่วมกับ AI” นั่นเอง

Express : แบ่งปันไอเดีย ความรู้ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เมื่อเราได้ปรับปรุงงานจนได้ผลงานที่พึงพอใจแล้ว สุดท้ายคือการ Express คือเอาไปแชร์สิ่งที่เราสรุปได้ให้คนอื่นที่สนใจ จะโพสต์โซเชียล เอาไปต่อยอดงาน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนอื่นๆ ได้

ซึ่ง “บทความนี้ที่ทุกคนกำลังอ่าน” นี่แหละ ก็เป็นผลงานที่เกิดจากกระบวนการทั้งหมดที่ผมกับ AI ช่วยกันพิมพ์อธิบายให้ทุกคนได้อ่านกันครับ จะเห็นว่าผมมีการ Edit หลายอย่างเข้าไปเพิ่มเติมจาก AI อีก และทำงานกลับไปมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเพื่อนๆ ด้วยครับ

ซึ่งการที่เรามีส่วนร่วมในการสร้างและแบ่งปันองค์ความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องที่เราสนใจ ให้เกิดคุณค่ากับคนหมู่มาก มันย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งคือสิ่งที่สำคัญมากๆ

นอกจากนี้ ทีเด็ดก็คือ ความรู้ทั้งหมดที่เราสั่งสมไว้ เราสามารถโยนความรู้นี้ไปสร้างเป็น AI ผู้ช่วยส่วนตัวของเราก็ยังได้!! ซึ่งทำให้เราสามารถเรียกหาความรู้ที่ราบันทึกไว้ได้อย่างง่ายดาย และสามารถถกเถียงกับ AI บนเนื้อหาความรู้นั้นๆ ได้ด้วย

ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เราสามารถสร้าง AI ผู้ช่วยได้ง่ายๆ เลย ไม่ต้องเขียนโปรแกรมด้วยซ้ำ เช่น การใช้ GPTs ของ ChatGPT4 ก็ทำได้ง่ายๆ เลย (มีค่าใช้จ่าย) หรือถ้าจะเอาแบบฟรีๆ ก็แค่โยน Text ให้ AI อ่านก่อนคุยก็ทำได้นะ

สร้าง Second Brain ในยุค AI ฉบับเทพ Excel 8

สรุป

เป็นไงบ้างครับ กับเทคนิคการสร้าง “สมองที่สอง” ในยุค AI สไตล์เทพ Excel ที่ผมได้แชร์ไปในบทความนี้ มันเป็นการผสมผสานการทำงานระหว่างคนกับ AI อย่างลงตัว ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมองเรานั่นเอง

โดยสรุปคร่าวๆ ก็มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

  1. Capture – พูดใส่มือถือเก็บความคิดเด็ดๆ ตอนมีไอเดีย โดยให้มือถือแปลงเสียงภาษาไทยเป็นข้อความได้เลย สะดวกสุดๆ
  2. Organize – ส่งข้อความที่ได้ให้ AI ช่วยสรุปใจความสำคัญ และแท็กหัวข้อต่างๆ ให้เป็นระเบียบจัดเก็บง่าย จะได้สบายภายหลัง
  3. Distill – ให้ AI ช่วยเรียบเรียงข้อความให้เนียนขึ้น ส่วนเราคอยดูแลภาพรวม เพิ่มเติมรายละเอียด และใส่ความเป็นตัวเองลงไป ทำงานส่งกลับไปกลับมา เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  4. Express – นำข้อมูลที่เราและ AI ช่วยกันจัดแจงออกมาดีแล้ว ไปแชร์ต่อกับคนอื่นๆ (หรือ AI) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป ซึ่งเค้าอาจจะมีไอเดียดีๆ ย้อนกลับมาให้เราบ้างก็ได้

เห็นมั้ยล่ะครับว่า Second Brain ยุค AI นี่มันง่าย สะดวก และเจ๋งขนาดไหน แค่ลองเปิดใจนำไปใช้ ยิ่งใช้บ่อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งค้นพบศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น โดยมี AI คอยเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ ที่จะทำให้เราก้าวไปสู่อีกระดับในเส้นทางชีวิตได้แน่นอน

ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ คนเราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และทำงานร่วมกับ AI ให้เป็น เพราะ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ตที่เราคุ้นเคยกันดีทุกวันนี้ การ “ทำงานร่วมกับ AI” และรู้จักใช้มันให้เป็น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะจำเป็นในยุคนี้เลยล่ะครับ

ดังนั้นพยายามหัดใช้ AI ให้คุ้นเคยเอาไว้ครับ ใช้มันสรุปความคิดง่ายๆ แบบนี้ให้ได้ก่อน เดี๋ยวก็จะเข้าใจมันมากขึ้น จนสั่งงานที่ยากขั้นในชีวิตจริงได้เองครับ

ใครอ่านจบแล้วอย่าลืมเอาไปลองเล่นดูนะ แล้วกลับมาแชร์ไอเดียเด็ดๆ ที่ได้มาให้กันฟังบ้าง รับรองสนุกแน่นอน แล้วเจอกันใหม่บทความหน้านะครับ ขอบคุณมากๆ ที่อ่านจนจบนะ

อบรม In-House Training

Feedback การใช้งาน AI Chatbot