depreciation-excel ค่าเสื่อมราคา

วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาใน Excel (Depreciation)

มีแฟนเพจถามคำถามเกี่ยวกับวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาใน Excel มาครับ ผมเห็นว่าหลายคนน่าจะสนใจ เลยทำบทความตอบเลยละกัน

ไม่ต้องพูดอะไรมาก จะคำนวณอะไรก็ตามได้เราควรต้องเข้าใจความหมายของมันก่อน ดังนั้นมาเริ่มกันจากคำถามที่ว่าค่าเสื่อมราคาคืออะไรกันแน่?

ค่าเสื่อมราคาคืออะไร?

ค่าเสื่อมราคา หรือ Depreciation คือ ค่าใช้จ่ายที่หักลบออกจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่กิจการใช้ประโยชน์ประจำงวดบัญชี ซึ่งเจ้าค่าเสื่อมราคาเนี่ยไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดนะครับ แต่เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีแบบนึง

ยกตัวอย่างเช่น กิจการของเราซื้อเครื่องจักรมาใช้งาน ตอนแรกเราซื้อเครื่องจักรที่มีมูลค่า 100,000 บาท ในทางบัญชีเราจะไม่ได้มีค่าใช้จ่ายตู้มเดียว 100,000 เลย (แม้ว่าในทางเงินสดจะจ่ายตู้มเดียว) แต่จะค่อยๆ แบ่งค่าใช้จ่ายไปตามระยะเวลาที่ใช้งาน

สมมติว่าอายุการใช้งานของเครื่องจักรคือ 10 ปี แล้วสมมติพอครบ 10 ปีแล้วมันจะเจ๊งจนกลายเป็นเศษเหล็กที่มูลค่าซาก (Salvage Value) เหลือ 10,000 บาท แบบนี้ถ้าดูตาม Common Sense แล้วเจ้าเครื่องจักรเนี่ยต้องมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลาใช่มั้ยล่ะครับ?

ไอ้มูลค่าเครื่องจักรที่ลดลงเรื่อยๆ เนี่ยแหละ เกิดจากมูลค่าเครื่องจักรที่ถูกหักค่าเสื่อมราคาออกไปเรื่อยๆ นั่นเอง ซึ่งปกติก็จะคำนวณค่าเสื่อมราคาทุกปีๆๆ ไป แล้วก็สะสมกลายเป็น ค่าเสื่อมราคาสะสม

ทีนี้วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคานั้นจริงๆ มีหลายแบบมากเลย แต่แบบที่จะได้ยินบ่อยๆ จะมี 2 แบบ คือ มูลค่าลดลงแบบเป็นเส้นตรง (Straight Line) กับลดเยอะช่วงแรก (Double Decline)

วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง (Straight Line)

แบบนี้คือแบบที่นิยมที่สุด และใช้ง่ายที่สุดด้วย เพราะมันคือการคิดให้ค่าเสื่อมราคานั้นมีค่าเท่ากันตลอดทุกปี คิดง่ายๆ ก็คือเอามูลค่าที่เปลี่ยนไปจากตั้งต้นไปจนกลายเป็นค่าซาก แล้วหารเฉลี่ยจำนวนปีเพื่อให้ค่าเสื่อมราคาเท่ากันทุกปีนั่นเอง

Depreciation ต่อปี (แบบเส้นตรง) = \frac{( มูลค่าตอนแรก - ค่าซาก ) }{ จำนวนปี}

ซึ่งใน Excel ก็มีสูตรสำเร็จรูปให้ใช้ด้วย นั่นคือ SLN (Straight Line)

SLN( cost, salvage, life )

แปลว่าเราสามารถเขียนสูตรแบบใช้คณิตศาสตร์ง่ายๆ หรือจะใช้ฟังก์ชัน SLN นี้ก็ได้เช่นกัน ง่ายทั้งคู่เลยล่ะ

วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาใน Excel (Depreciation) 1

จะเห็นว่าพอสร้างตารางเพื่อดูมูลค่าคงเหลือของเครื่องจักรในแต่ละปี ก็จะเห็นว่ามูลค่าค่อยๆ ลดลงด้วยปริมาณที่คงที่ และสุดท้ายมูลค่าไปจบที่ค่าซากพอดีนั่นเอง นี่คือลักษณะของการคิดค่าเสื่อมแบบเส้นตรงครับ

วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาแบบยอดลดลงทวีคูณ (Double Decline Balance)

วิธีนี้จะมีหลักการคือ เป็นการมองว่าปีแรกๆ ควรจะมีค่าเสื่อมราคาเยอะสุด แล้วในช่วงหลังจะค่อยๆ น้อยลงเรื่อยๆ

โดยจะคิดอัตรา % ค่าเสื่อมเป็น 2 เท่าของแบบเส้นตรง (เลยเรียกว่า Double Decline) แต่จะคิดจากมูลค่าสินทรัพย์คงเหลือในแต่ละปีที่จ่ายค่อยๆ ลดลงด้วยโดยที่ไม่ได้หักค่าซากก่อนเหมือนของแบบเส้นตรงนะ

เช่น สถานการณ์เดิม ถ้าเป็นแบบเส้นตรง อัตราค่าเสื่อมจะเป็น 20% (เกิดจาก 1/5 ปี) แต่พอใช้ Double Decline Balance จะใช้อัตรา 2 เท่า นั่นคือ 2*20% = 40% นั่นเอง

ซึ่งใน Excelก็มีฟังก์ชันสำเร็จรูปเช่นกัน นั่นคือ

DDB( cost, salvage, life, period, [factor] )
ซึ่ง period จะทำให้เราสามารถแสดงได้เลยว่าจะดู Depreciation ณ ปีไหน (เพราะมันไม่เท่ากัน)

สรุปแล้วสามารถทำออกมาเป็นตารางได้ดังนี้

วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาใน Excel (Depreciation) 2

จะเห็นว่าถ้าใช้สูตรคณิตศาสตร์ธรรมดา จะมีปัญหากับช่วงหลังที่จะได้ทำให้เหลือค่าซากพอดี ซึ่งอาจต้องใช้ IF หรือพวก MIN มาช่วยถึงจะถูกต้อง ดังนั้นหากใช้ฟังก์ชัน DDB ของ Excel จะไม่มีปัญหาเรื่องหักจนเกินค่าซากเลย

อย่างไรก็ตาม มันก็จะยังมีกรณีที่ค่าเสื่อมไม่พอที่จะหักไปจนถึงค่าซาก เช่น ถ้าให้ค่าซากเป็น 100 จะเห็นว่าค่าเสื่อมพอครบ 5 ปีแล้วก็ยังไม่พออยู่ดี ซึ่งเจ้าฟังก์ชัน DDB ก็จะไม่ได้ Adjust ตรงนี้ให้เรานะครับ

วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาใน Excel (Depreciation) 3

ดังนั้นในชีวิตจริง หลายๆ เคสที่ต้องการใช้ Double Decline Balance จะมีแนวคิดเพิ่มเติมอีกนิดว่า จะลองเทียบกับการคำนวณค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรงด้วยแล้วเอาค่าที่มากกว่า เพื่อทำให้แน่ใจว่ามูลค่าคงเหลือจะจบที่ค่าซากได้อย่างที่ตั้งใจไว้

ซึ่งใน Excel ก็จะมีฟังก์ชันสำเร็จรูปให้ใช้ นั่นคือ VDB (Variable Declining Balance) นั่นเอง

VDB( cost, salvage, life, start_period, end_period, [factor], [no_switch] )

ดังนั้นแทนที่จะใช้ DDB เราจะใช้ VDB เพื่อจัดการเรื่องนี้แทนครับ ซึ่งต้องระบุเรื่องที่แปลกว่า DDB นิดหน่อย คือ Start_Period กับ End_Period ที่จะคำนวณค่าเสื่อม เช่น ถ้าจะคำนวณค่าเสื่อมของปีที่สองให้ใส่ Start เป็น 1 และ End เป็น 2 ครับ

วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาใน Excel (Depreciation) 4

สรุป

เพื่อนๆ อ่านแล้วเป็นยังไงกันบ้าง? ใครทำงานบัญชี สามารถช่วยแชร์ความรู้ได้นะครับ ^^

ความเห็นของผมคือ สาเหตุนึงที่ทำให้การคิดค่าเสื่อมแบบเส้นตรงเป็นที่นิยมกว่า เพราะมันง่าย ไม่ต้องมาเจอปัญหาปวดหัวแบบพวก Double Decline พวกนี้นั่นเองครับ แต่ถ้าจะใช้ Double Decline ใน Excel ผมก็แนะนำให้ใช้ VDB ดีกว่า DDB ครับ เพราะจะแก้ปัญหาตอนจบเรื่องค่าซากได้ด้วย

สำหรับใครที่สนใจการคำนวณค่าเสื่อมแบบไม่เต็มปี สามารถอ่านต่อได้ที่นี่

Power BI Workshop 2024 ตุลาคมนี้
อบรม In-House Training

Feedback การใช้งาน AI Chatbot